“เทคโนโลยี” กำลังเป็นวิทยาการที่มีบทบาทและมีอิทธิพลมากขึ้นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดยิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น และแนบเนียนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะในขณะที่ทุกคนโฟกัสไปกับการที่เทคโนโลยีจะมาแทนที่มนุษย์ในหลายด้าน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่อีกกิจกรรมหนึ่งของสังคม นั่นคือ เรื่องการเมือง จนมีการเปรียบเทียบว่า “ดิจิทัลและการเมืองต้องพึ่งพากัน”
หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนที่สุดตอนนี้ คือพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน ซึ่งมีครบชุดทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม แต่ทรัมป์ใช้งานทวิตเตอร์เป็นหลัก ตอนนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 85.5 ล้านคน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559 และการลงประชามติเบร็กซิตเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 คือบทพิสูจน์ว่าสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการรับรู้ และการตัดสินใจของประชาชนมากเพียงใด
ปัจจุบันสหรัฐมีกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บิ๊ก ไฟฟ์” หรือ “พี่ใหญ่ทั้งห้า” หรืออาจจะเรียกว่า “ผู้ทรงอิทธิพลทั้งห้า” ก็ไม่ผิดนัก ได้แก่ แอมะซอน แอปเปิ้ล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟต์ และกูเกิ้ล ยิ่งเราใช้สินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้มากเท่าไหร่ ไม่ได้บ่งชี้ถึง “ความจำเป็นตามยุคสมัย” เพียงอย่างเดียว แต่ยังคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวสินค้า ทว่าในเวลาเดียวกันคือการสร้างเอกสิทธิ์และอิทธิพลให้กับบริษัทเหล่านี้โดยปริยาย ยกระดับการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดนให้มีบทบทด้านภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อประเด็นความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นที่กังวลมากขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว กูเกิ้ลเป็นบริษัท “ที่มีปัญหามากที่สุด” กับรัฐบาลจีน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายมีขึ้นมีลงตามบริบททางการค้าและสิทธิมนุษยชน การแก้ไขปัญหาในช่วงต้นมีรัฐบาลสหรัฐเป็น “คนกลาง” แต่ภาพเหล่านั้นแทบไม่เกิดขึ้นอีกในยุคปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิ้ลเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งทั้งอย่างเปิดเผยและเป็นการภายใน พบหารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปักกิ่งหลายระดับ จนมีกระแสข่าวออกมาว่าทั้งสองฝ่าย “บรรลุข้อตกลง” ซึ่งอาจนำไปสู่การที่กูเกิ้ลเปิดให้บริการในจีน “อย่างเปิดเผยได้อีกครั้ง” กระนั้นกูเกิ้ลยังคงยืนกรานปฏิเสธเรื่องนี้
ข้อมูลจากศูนย์ตอบสนองทางการเมือง “โอเพน ซีเครตส์” หนึ่งในองค์กรไม่แสวงผลกำไรทางการเมืองและสังคมของสหรัฐ ระบุว่าบรรดาบิ๊กไฟฟ์ทุ่มทุนรวมกันมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 626.6 ล้านบาท ) เฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ใช้ไปกับการล็อบบี้สภาคองเกรสของสหรัฐหลายเรื่อง โดยเฉพาะการออกกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณฉุกเฉินเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19
ขณะที่หากเจาะลึกเฉพาะบริษัท รายงานของโอเพนซีเครตส์ ระบุด้วยว่าเฟซบุ๊กว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ 68 คนตั้งแต่ต้นปีนี้ จากจำนวนดังกล่าว 12 คนนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานของเฟซบุ๊ก ส่วนที่เหลืออีก 56 คนมาจากบริษัทคู่สัญญา และที่สำคัญคือจากจำนวนล็อบบี้ยิสต์กลุ่มนี้ของเฟซบุ๊ก มีเพียง 3 คนเท่านั้นไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลวอชิงตัน
ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของล็อบบี้ยิสต์สังกัดเฟซบุ๊กเคยทำงานเชื่อมโยงกับสมาชิกระดับแกนนำของพรรคเดโมแครตหลายคน รวมถึงนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายชัค ชูเมอร์ แกนนำเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา หรือเคยได้รับการว่าจ้างจากคณะทำงานของพรรคเดโมแครต โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาล็อบบี้ยิสต์ของเฟซบุ๊กไม่มีประวัติร่วมงานกับพรรครีพับลิกันมากนัก แต่ยังมีส่วนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประธานคณะกรรมาธิการหลายชุดของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก
อย่างไรก็ดี หลังทุ่มเงินไปมากถึง 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 532.7 ล้านบาท ) กับการใช้ล็อบบี้ยิสต์เฉพาะเมื่อปีที่แล้ว เป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีแนวโน้มสูงที่เฟซบุ๊กจะทำลายสถิติการจ้างล็อบบี้ยิสต์อีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ทั้ง 435 ที่นั่ง ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เช่นเดียวกับแอปเปิ้ลซึ่ง “มีรูปแบบการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปมาก” นับตั้งแต่ผ่านพ้นยุคของสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งมีท่าที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้บริษัทเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ส่วนกูเกิ้ลและแอมะซอนมีรายงานการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับบรรดานักการเมืองระดับสูงมากขึ้นเช่นกัน
ในโลกของทุนนิยมและยุคที่เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เข้ามาในชีวิตจนแทบขาดไม่ได้ การที่บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าตลาดมากเท่าไหร่ อิทธิพลทางการเมืองของบริษัทยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย “ซิลิคอน แวลลีย์” ริมอ่าวซานฟรานซิสโกไม่ใช่แค่ชุมชนของบริษัทเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่สถานที่แห่งนี้คือ “อาณาจักรซ่อนเร้น” หรือ “รัฐพันลึก” ซึ่งมีอิทธิพลมากเพียงพอ ที่จะสามารถกดดัน ชี้นำ ประนีประนอม คัดค้านและสนับสนุนเครือข่ายทางการเมืองใดก็ตาม เพื่อให้เป้าหมายของตัวเองบรรลุผล “บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทั้งสองด้าน” ในทางการเมืองและธุรกิจ.
--------------------------------------------------------------------------
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, AP
"มีอิทธิพล" - Google News
August 29, 2020 at 08:00PM
https://ift.tt/2YLRdaa
จักรวรรดิใหม่ศตวรรษที่21 คุมสื่อออนไลน์เพื่อครองโลก? - เดลีนีวส์
"มีอิทธิพล" - Google News
https://ift.tt/3gIvPK6
Home To Blog
No comments:
Post a Comment