พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"ปัญญาพลวัตร"
ทันทีที่พระราชกำหนดเงินกู้สามฉบับของรัฐบาลผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งภายใน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ปะทุออกมาอย่างรวดเร็ว ปฏิบัติการโค่นล้มหัวหน้าพรรคเปิดฉากขึ้นทันควัน พร้อมกับการโต้กลับของฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ ซึ่งยิ่งขยายรอยร้าวและเพิ่มความตึงเครียดขึ้นไปอีก จนทำให้รัฐบาลเกิดร้าวและสุ่มเสี่ยงต่อการแตกสลาย และเมื่อผสมกับความเสื่อมภายนอกที่รุมเร้าสะสมถับถมทุกวี่วัน รัฐบาลประยุทธ์ก็ก้าวเดินเข้าสู่สถานการณ์ใกล้ตะวันตกดินมากขึ้น
หากถามว่าความแตกแยกภายในพรรค พปชร. เหนือความคาดหมายของผู้สังเกตทางการเมืองหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่ก็คงไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือเหตุการณ์แบบนี้อยู่ในความคาดการณ์ตั้งแต่มีการจัดตั้งพรรคนี้ขึ้นมา ส่วนผลกระทบของความแตกแยกภายในพรรคจะส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง จะทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต้องพบจุดจบก่อนครบวาระหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป
พรรค พปชร. ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและสหา ส่วนผสมหลักของพรรคประกอบด้วย กลุ่มคนที่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลคสช. อย่างเช่น นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ กลุ่มนี้อยู่ภายใต้การนำของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพรรค แต่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกลุ่มนายอุตตม กับกลุ่มนักการเมืองเก่าที่มีหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.ที่เคยทำงานกับรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์มาก่อน เช่น กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ กลุ่มนายธรรมนัส พรหมเผ่า และบางส่วนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคือกลุ่มนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
พรรคพปชร. ได้รับเลือกตั้งมี ส.ส.เป็นลำดับสอง รองจากพรรคเพื่อไทย ชัยชนะมาจากส่วนผสมของสี่ส่วน คือ ความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์ ของชนชั้นกลางบางส่วนที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม การใช้อำนาจรัฐเกื้อหนุนและสร้างโอกาสแก่ผู้สมัครของพรรค การใช้ทุนจำนวนมหาศาลในการเลือกตั้ง และความนิยมส่วนบุคคลของอดีต ส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคอื่นที่ถูกดูดเข้ามาเป็นผู้สมัครของพรรคนี้
เมื่อรวมกันอย่างหลวม ๆ และมีเป้าหมายเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของบุคคล พรรคนี้ก็เป็นเพียงรวมตัวเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกิจ โดยปราศจากรากฐานทางอุดมการณ์การเมืองที่เป็นกาวเชื่อมโยงความคิดและความเชื่อของสมาชิกพรรคและ ส.ส.ของพรรค การแย่งชิงตำแหน่งและอำนาจจึงเป็นประเด็นหลักของการเมืองในพรรค และความแตกแยกก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
ร่องรอยของความแตกแยกมีตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัด จึงทำให้กลุ่มอำนาจในพรรคได้รับการจัดสรรตำแหน่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของตนเอง หรือบางกลุ่มก็ไม่ได้รับการจัดสรร ความอีดอัดคับข้องใจก็เกิดขึ้น และเกมการเมืองเพื่อเลื่อยขาเก้าอี้และช่วงชิงตำแหน่งก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายหลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว
นายอุตตม หัวหน้าพรรคได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ เลขาธิการพรรคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ทั้งสองแสดงบทบาทไม่เป็นไปตามความคาดหวังของ ส.ส.ในพรรค เพราะทำงานโดยเน้นบทบาทในฐานะเป็นรัฐมนตรีมากกว่า บทบาทการเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค บรรดา ส.ส.ภายในพรรคคิดว่าบุคคลทั้งสองละเลยการบริหารภายในพรรค ไม่ดูแลส.ส. พรรค อันเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติของพรรคการเมืองแบบไทย ๆ ความไม่พอใจในกลุ่มสมาชิกพรรคขยายตัวมากขึ้น จนทำให้ผู้กุมสภาพการเมืองของรัฐบาลอย่างพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณต้องกระโจนเข้ามากุมบังเหียนและแสดงบทบาทในพรรคแทน โดยเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคและรับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ของพรรค
กระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเคลื่อนตัวมาถึงจุดที่มีการยื่นข้อเสนอให้นายอุตตมลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.ก. เงินกู้สามฉบับเข้าสู่การพิจารณาในสภา แต่นายอุตตมไม่ตอบสนอง และยืนกรานดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป กลุ่มอำนาจภายในพรรคจึงเดินเกมขับเคลื่อนต่อ โดยกำหนดเวลาปฏิบัติการณ์หลัง พรก.เงินกู้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และทันทีที่พรก.ผ่านในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม วันรุ่งขึ้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคก็ออกมาแถลงว่า กรรมการบริหารพรรคลาออกจำนวน ๑๘ คน จากจำนวนทั้งหมด ๓๔ คน ซึ่งส่งผลให้นายอุตตมะ พ้นสภาพการเป็นหัวหน้าพรรคโดยปริยาย
นายอุตตม และนายสนธิรัตน์ได้ออกมาตอบโต้อย่างทันควันและเผ็ดร้อนแรงยิ่ง โดยเฉพาะนายสนธิรัตน์ถึงกับกล่าวว่า “เขาบี้อยู่แล้ว เบื้องหลังเขาข่มขู่ ผมจะเปิดโปงเรื่องนี้ต่อไป และคิดว่าเขาลาออกเกินครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเขาเรียกไปบี้”
นัยของการใช้ประโยคในลักษณะนี้บ่งบอกให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวโดยใช้ยุทธวิธีให้กรรมการบริหารพรรคลาออก ต้องผู้กำกับบงการโดยเรียกกรรมการบริหารพรรคไปพบ เพื่อให้เขียนใบลาออกและมีการข่มขู่หากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งนายสนธิรัตน์ ประกาศว่าจะเปิดโปงต่อไป หากมีการข่มขู่กันจริงภายในพรรคตามที่นายสนธิรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ก็หมายความว่า พรรคนี้มีการบริหารแบบมาเฟีย โดยมีกลุ่มอำนาจบางกลุ่มบงการชักใยอยู่เบื้องหลัง และมีอิทธิพลเหนือหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค
สิ่งที่นายสนธิรัตน์ให้สัมภาษณ์สะท้อนว่า พรรคแบบนี้หาได้มีลักษณะที่พึงประสงค์ของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด และแน่นอนว่า เมื่อบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ยังต้องออกมาเปิดโปงความเน่าเฟะในพรรคตนเอง ก็แสดงว่าพรรคการเมืองนี้มิใช่เป็นพรรคที่ประชาชนจะมอบความไว้วางใจได้อีกต่อไป ส่วนตัวของนายสนธิรัตน์เอง หลังจากที่ให้สัมภาษณ์เช่นนั้นออกมา ในอนาคตก็อาจถูกตอบโต้จากกลุ่มอำนาจของพรรคในรูปแบบใดรูปหนึ่งก็เป็นได้
จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ มีความเป็นไปได้ ๒ แนว แนวแรกคือ กลุ่มนายอุตตม ต่อสู้โดยพยายามรวบรวมเสียงจาก ส.ส.และสมาชิกที่สนับสนุนตนเอง เพื่อสู้กับกลุ่มพลเอกประวิตร แต่ความหวังที่จะได้รับชัยชนะและกลับมาครองอำนาจภายในพรรคอีกครั้งริบหรี่อย่างยิ่ง เพราะว่ากลุ่มพลเอกประวิตรมีความเหนืกว่าทั้งในแง่เครือข่ายและความเชี่ยวชาญในการเล่นเกมอำนาจการเมือง และแนวทางที่สองคือ การถอยโดยไม่ต่อสู้และปล่อยให้กลุ่มพลเอกประวิตร ยึดครองอำนาจไปอย่างง่ายดาย
แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตาม ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นคือจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกลุ่มนายอุตตม ซึ่งกลุ่มนายอุตตมต้องตัดสินใจว่า จะอยู่ภายในพรรคต่อไปด้วยความอีดอัดและไร้บทบาท หรือจะลาออกไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ความเป็นไปได้ของการลาออกน่าจะมีสูงกว่า เพราะสิ่งที่นายอุตตมและนายสนธิรัตน์แถลงออกมานั้นคงยากที่จะสมานรอยร้าวกับผู้มีอิทธิพลตัวจริงในพรรคได้แล้ว
ภาพของความตึงเครียดมิได้จำกัดอยู่เพียงภายในพรรคเท่านั้น หากแต่ยังแสดงออกในคณะรัฐมนตรีด้วย ดังข่าวที่ปรากฎออกมาว่า กลุ่มบุคคลที่อยู่ภายในความขัดแย้งแสดงท่าทีเย็นชาและหมางเมินต่อกันในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายนที่ผ่านมา บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรีอบอวนด้วยความอึดอัด และแม้ว่าพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะพูดให้เกิดการผ่อนคลาย แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
เกมต่อไปของกลุ่มพลเอกประวิตรคือ การบีบให้นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี และถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่เต็มใจมากนัก แต่ก็คงไม่อาจต้านกระแสความปรารถนาของกลุ่มอำนาจในพรรคพลังประชารัฐได้ ความเป็นไปได้ที่นายสมคิด นายอุตตม นายสนธิรัตน์ และนายสุวิทย์ จะถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีจึงมีสูงยิ่ง คาดว่าคงเกิดขึ้นหลังพรรค พปชร. เปลี่ยนหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่นานนัก และหากเป็นไปตามนี้ อิทธิพลของพลเอกประวิตรที่มีต่อรัฐบาลซึ่งก็มีสูงอยู่แล้ว ก็คงสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถคุมกำกับได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งพรรคและรัฐนั่นเอง ส่วนพลเอกประยุทธ์ ก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ภายใต้การกำกับยิ่งขึ้น ความเป็นอิสระที่พอมีอยู่บ้างในการตัดสินใจทางการเมืองก็จะถูกจำกัดลง
อย่างไรก็ตามกลุ่มของพลเอกประวิตรและส.ส.ภายใต้สังกัด มีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก หลายคนมีเรื่องอื้อฉาว รวมทั้งพลเอกประวิตรเองด้วยในกรณี “นาฬิกายืมเพื่อน” ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ ก็หาได้พอใจกับกลุ่มนี้แต่อย่างใด ดังนั้นการรุกคืบและช่วงชิงตำแหน่งภายในพรรคครั้งนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น และหากพลเอกประยุทธ์ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของกลุ่มนี้โดยนำนักการเมืองที่อื้อฉาวมาเป็นรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นก็ยิ่งสร้างความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ยิ่งขึ้น
ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ภายนอก ความนิยมของรัฐบาลประยุทธ์ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แม้ว่าจะกอบกู้คืนมาได้บางส่วนจากการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด แต่หลังจากนี้กราฟความนิยมก็จะปักหัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาจากบรรดาผู้สนับสนุนที่เบื่อหน่ายและรังเกียจคนรอบข้างพลเอกประยุทธ์มากขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นกลาง ก็เปลี่ยนจุดยืนเข้าสู่การไม่ชอบมากขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ชอบอยู่แล้วก็มีแนวโน้มเพิ่มระดับความเข้มข้นไปสู่การแสดงออกด้วยการต่อต้านอย่างเปิดเผย
ความเสื่อมของรัฐบาลประยุทธ์ นอกจากเกิดจากการห้อมล้อมด้วยนักการเมืองที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวแล้ว ก็มาจากฝีมือการบริหารเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิม จนไม่สามารถสร้างความหวังในการมีชีวิตที่ดีแก่ประชาชนได้ เมื่อสถานการณ์ของประเทศถูกกระหน่ำด้วยการระบาดของโควิดและการใช้พรก. ฉุกเฉินที่เกินความจำเป็นและขาดความยืดหยุ่น ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าเข้าสู่การถดถอยครั้งใหญ่ การปิดกิจการและการล้มละลายของธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ขณะที่การลงทุนใหม่เกิดขึ้นได้ยาก และสังคมจะเต็มไปด้วยกองทัพผู้ว่างงานและตกงาน ความเดือดร้อนและขาดแคลนรายได้จะเป็นปรากฎการณ์ทั่วไป คนจนจะเต็มบ้านเต็มเมือง
ยิ่งกว่านั้นความอึดอัดคับข้องใจและความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและสถาบันที่ค้ำจุนอำนาจและความมั่นคงของรัฐบาลอย่างวุฒิสภา องค์กรอิสระและกองทัพก็สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดก็มีสามเรื่องที่เป็นประดุจการถมก้อนหินลงในจิตใจของประชาชน เรื่องแรกคือ การตีความแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ของสมาชิกวุฒิสภา แบบพวกมากลากไปในการลงมติ โดยเลือกอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.)เข้าไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการทำลายบรรทัดฐานเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ และทำโดยไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล สิ่งนี้เป็นหลักฐานว่า สมาชิกวุฒิสภาขาดจิตสำนึกแห่งการปฏิรูปการเมือง และมีพฤติกรรมบั่นทอนการพัฒนาระบอบประชาธิไตย นับวันวุฒิสภาชุดนี้ยิ่งขาดความชอบธรรมมากขึ้น
ส่วนองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. เองก็ไม่แพ้กันเมื่อตีความว่านาฬิกายืมเพื่อนของพลเอกประวิตร เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินเพราะเป็น “ทรัพย์สินคืนรูป” ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายหลักความโปร่งใสและเปิดช่องทางในการปกปิดทรัพย์สิน และเอื้อต่อการทุจริตของนักการเมืองในอนาคต
ท้ายที่สุดการรังแกทหารชั้นผู้น้อยที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในกองทัพ ด้วยการสั่งขังและคุกคามชีวิต จนเขาต้องหลบหนี และจากนั้นก็บดขยี้ด้วยการตามจับกุมด้วยข้อหาหนีทหาร เหตุการณ์นี้ รวมทั้งสองเรื่องก่อนหน้านี้คือ การสังหารหมู่ประชาชนโดยทหารชั้นประทวนถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา และการขาดความไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยอนุญาตให้มีการจัดแข่งขันมวยในสนามมวยลุมพินีจนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด๑๙ ครั้งใหญ่ในประเทศไทย ล้วนแล้วไร้สะท้อนถึงความเสื่อมอย่างถึงที่สุดของระบบการบริหารแบบอำนาจนิยมและธุรกิจนิยมภายในกองทัพบก
การแย่งอำนาจและผลประโยชน์จนสร้างความแตกแยกภายใน การไร้ฝืมือในการบริหารเศรษฐกิจจนเกิดความยากจนอย่างทั่วหน้า และการสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจและเอื้อพวกพ้องจนทำลายหลักธรรมาภิบาลครั้งแล้วครั้งเล่าแล้ว คือปัจจัยขับเคลื่อนรัฐบาลประยุทธ์ให้เดินไปสู่สถานการณ์ตะวันยามสนธยา และจะจมหายไปสู่ราตรีในอีกไม่กี่เพลา
"มีอิทธิพล" - Google News
June 05, 2020 at 03:46AM
https://ift.tt/2ALij80
รัฐบาลประยุทธ์ ภายในแตก ภายนอกเสื่อม เคลื่อนตัวสู่สนธยา - ผู้จัดการออนไลน์
"มีอิทธิพล" - Google News
https://ift.tt/3gIvPK6
Home To Blog
No comments:
Post a Comment